HIV

 HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งโรคเอดส์ (AIDS) คือระยะท้ายของการติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 (ซีดีโฟร์) ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น รวมทั้งมะเร็งบางชนิดได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่ยังมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดีพอสมควร เราจะเรียกว่า “ผู้ติดเชื้อ HIV” และผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง  จนกระทั่งมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสเราจะเรียกว่า “ผู้ป่วยเอดส์” เมื่อป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว ต้องรับการรักษา รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดเป็นซ้ำ จนกว่าระดับภูมิคุ้มกันโรคหรือ CD4 จะสูงขึ้นเพียงพอที่จะป้องกันร่างกายจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสและเพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อ HIV ได้ในระดับหนึ่งด้วยภูมิของร่างกายเอง 

เชื้อ HIV สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด  น้ำเหลือง น้ำอสุจิ  น้ำในช่องคลอด  ส่วนน้ำลาย เสมหะและน้ำนมมีปริมาณเชื้อ HIV น้อย  สำหรับเหงื่อ ปัสสาวะและอุจจาระแทบไม่พบเลย ทั้งนี้มีช่องทางการติดต่อที่สำคัญ ได้แก่

  1. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัย  ไม่ว่าชายกับชาย ชายกับหญิง หรือหญิงกับหญิง ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก ก็ล้วนมีโอกาสติดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของการระบาดวิทยาพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อ HIV ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
  2. ใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด
  3. การสัมผัสเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ HIV ผ่านผิวสัมผัสที่เป็นแผลเปิดหรือรอยถลอก รวมทั้งการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV โดยไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้สะอาดเพียงพอ เช่น  มีดโกนหนวด  กรรไกรตัดเล็บ เข็มสักผิวหนังหรือคิ้ว  เข็มเจาะหู
  4. การติดต่อจากแม่สู่ลูก  ทั้งระหว่างตั้งครรภ์  การคลอดและการเลี้ยงดูด้วยนมแม่
  5. การรับโลหิตบริจาคที่มีเชื้อ HIV ปนเปื้อน  ซึ่งมีโอกาสน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกขวดต้องผ่านการตรวจหาการติดเชื้อ HIV เพื่อความปลอดภัย

หากสงสัยว่า  ได้รับเชื้อ HIV ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อกินยาต้านเชื้อ HIV แบบฉุกเฉินหรือยา PEP (เพ็บ) ภายใน 72 ชั่วโมง  หรือหากมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อสามารถกินยา PrEP (เพร็บ) ซึ่งเป็นยาที่กินก่อนที่จะได้รับเชื้อหรือป้องกันเชื้อ HIV ได้

ระยะของการติดเชื้อ HIV

ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV ในช่วงแรกที่ติดเชื้อปริมาณไม่มาก และยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาอาจยังตรวจหาเชื้อหรือภูมิต้านทานต่อเชื้อไม่พบ  ซึ่งอาจเป็นช่วงตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ หนาวสั่น  เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว  น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปได้เอง และเนื่องจากอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วไป ผู้ติดเชื้ออาจซื้อยากินเองหรือไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น  ดังนั้นผู้ติดเชื้อบางรายจึงอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะนี้

ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบเชื้อ HIV และสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้ จึงสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (Carrier) ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการแต่เชื้อ HIV จะแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคจนมีจำนวนลดลง เมื่อลดต่ำลงมาก ๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้อัตราการลดลงของระบบภูมิคุ้มกันโรคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ HIV และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ติดเชื้อเอง ระยะนี้คนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี แต่มีกลุ่มผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ที่ระยะนี้อาจสั้นเพียง 2-3 ปี ซึ่งเรียกว่า กลุ่มที่มีการดำเนินโรคเร็ว (Rapid progressor) ในขณะที่ประมาณร้อยละ 5 จะมีการดำเนินโรคช้า  โดยบางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป เรียกว่า กลุ่มที่ควบคุมเชื้อได้ดีเป็นพิเศษ (Elite controller)

ระยะติดเชื้อที่มีอาการ  ผู้ป่วยจะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันโรค ดังนี้

อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร  ผู้ป่วยอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย  โรคเชื้อราที่เล็บ  แผลร้อนในในช่องปาก  ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก  ริมฝีปาก  ฝ้าขาวข้างลิ้นซึ่งขูดไม่ออก โรคสะเก็ดเงินที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ

อาการปานกลาง ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้  เริมที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศ  ซึ่งกำเริบบ่อยและเป็นแผลเรื้อรัง  งูสวัด  โรคเชื้อราในช่องปากหรือช่องคลอด ท้องเสียบ่อยหรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน  มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน  ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 บริเวณ (เช่น คอ รักแร้ และขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน  น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ  ปวดกล้ามเนื้อและข้อ  ไซนัสอักเสบเรื้อรัง  ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย

ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจระดับ CD4 จะพบว่ามักมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว วัณโรค ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้าเรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยากและอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำ หรือชนิดใหม่หรือหลายชนิดร่วมกัน ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้  มีไข้เรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ไอเรื้อรังหรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอดหรือปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรังจากเชื้อราหรือโปรโตซัว น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้งและอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบากหรือเจ็บเวลากลืนเนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา สายตาพร่ามัว มองไม่ชัดหรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ตกขาวบ่อยในผู้หญิง มีผื่นคันตามผิวหนัง ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกจากเดิมเนื่องจากความผิดปกติของสมอง ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

ทั้งนี้ อาการของผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์อาจมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคอื่นได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดว่า ติดเชื้อ HIV หรือไม่ จึงควรทำการตรวจเลือดหาการติดเชื้อ HIV

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดอกเฟื้องฟ้า